ส.อ.ท. ยกทีมสื่อ เยี่ยมชม สวทช. – ปตท. เรียนรู้ “New S-Curve” ผลักดัน ศก. ไทย

 

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมสถานที่ดูงาน โดยในช่วงเช้า ได้นำคณะเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี และในช่วงบ่ายได้นำคณะเยี่ยมชม สถาบันนวัตกรรม ปตท. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 55 คน

 

ในช่วงแรก นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ให้เกียรติกล่าวบรรยายภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ New S-Curve” โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1) GDP ไตรมาส 2/2566
ที่ขยายตัวเพียง 1.8% 2) มูลค่าการส่งออก 8 เดือนแรกปี 2566 หดตัว 4.5% 3) หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้นเป็น 90.6% (ไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.8%) หนี้เสียหรือ NPL (Non-performing Loan) ไตรมาส 2 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท 4) ผลกระทบจาก “เอลนีโญ” และปัญหาอุทกภัย 30 จังหวัด และปริมาณฝนสะสมบางพื้นที่ต่ำกว่าระดับปกติ ทำให้มีความเสี่ยงภัยแล้งในปี 2567 และ 5) อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเป็น 2.50% สูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นต้น ซึ่งความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมพร้อมรับมือผ่านแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

 

“ท่ามกลางความท้าทาย ส.อ.ท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) ผ่านแนวทางการเปลี่ยนแปลง 4 ด้าน ได้แก่ 1) เปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง (OEM) เป็นผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง (ODM) / ผู้ขายสินค้าที่ผลิตโดยผู้อื่นภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (OBM) 2) เปลี่ยนจากการใช้แรงงานเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเครื่องจักรและระบบ Automation 3) เปลี่ยนการผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และ 4) เปลี่ยนจากแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง (High-skilled labor) พร้อมกันนี้ ส.อ.ท. ยังพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

 

เพื่อตอบโจทย์การดำเนินงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ทาง ส.อ.ท. มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation 4.0) การขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDE) รายอุตสาหกรรม/ภูมิภาค รวมทั้งการออกมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม

 

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curves โดยเร่งสร้างกลไกและแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curves เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT)และปกป้องสินค้าไทยโดยการควบคุมสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ

 

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะฯ พร้อมบรรยายแนะนำ สวทช. เกี่ยวกับบทบาทและการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน BCG Economy Model ว่า “สำหรับ BCG สวทช. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ BCG ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ ESG และ SDGs แนวทางการขับเคลื่อนให้การให้เติบโตของโลกอย่างสมดุล ทั้งนี้การจะเข้าสู่ SDGs หรือ ESG แต่ละประเทศบริบทไม่เหมือนกัน ประเทศไทยถือว่ามีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้นการเติบโตด้าน Bioeconomy มีได้สูง ขณะเดียวกันเรื่อง Circular economy และ Green economy เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปได้ด้วยฐานของเทคโนโลยี เพราะจะเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมปัจจุบัน ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีเสมอ ซึ่ง BCG ก็คือกลไกการขับ New S-Curves ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”

 

“อย่างไรก็ตาม BCG หรือ Bio-Circular-Green เป็นคำใหญ่ แต่คีย์เวิร์ดคือ Economy ดังนั้น BCG economy เรากำลังจะบอกว่าอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ทั้งประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยจะโตขึ้น วิสัยทัศน์ 4 ด้านที่ต้องเดินหน้า คือ 1.ต้องสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต้องโตอย่างเข้มแข็ง 3.เทคโนโลยีใหม่ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความสามารถในการสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 4.ต้องยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน สร้างนวัตกรรมพรีเมียม และให้ของเสียเป็นศูนย์ ทั้งนี้ด้วยตัวอุตสาหกรรม BCG นั้น จะทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น คือ Circular-Green economy ซึ่งหลายอุตสาหกรรมกำลังปรับแปลงอุตสาหกรรมของตนเองให้รักษ์โลกมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง และจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ดีขึ้นช่วยสร้างเศรษฐกิจด้วยตัวเอง”

 

ภายหลังจากการบรรยายคณะทำงาน สวทช. นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ได้นำคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. พร้อมสื่อมวลชน เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมและโรงงานต้นแบบ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตพืช (Plant factory) โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food & Feed Innovation Center) และโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Pilot Plant)

 

สำหรับโรงงานผลิตพืช (Plant factory) ถือเป็นต้นแบบการผลิตพืช นำประเทศไทยเข้าสู่ฐานการผลิตสาระสำคัญของสมุนไพรแบบพรีเมียมเกรดที่มีมูลค่าสูง ยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำ

 

สวทช. ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค สวทช. มุ่งเป้าใช้ Plant factory เทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ที่ผลิตสารสำคัญต่าง ๆ เพิ่มมูลค่าการส่งออกและนำไปสู่การพัฒนายา เวชสำอาง และอาหารเสริมสุขภาพ เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช เป็นการปลูกพืชในระบบปิด ควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เช่น แสง อุณหภูมิความชื้น แร่งธาตุ ต่างๆ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้แสงจากหลอดแอลอีดี ซึ่งสามารถออกแบบเลือกสี และความยาวคลื่นแสง ที่เหมาะกับพืชแต่ละชนิดช่วยให้พืชสร้างสารสำคัญเชิงหน้าที่ หรือสมบัติพิเศษตามความต้องการ พืชที่ปลูกใน Plant factory โตเร็ว ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นลง สามารถเพิ่มผลิตได้มากถึง 10 เท่า และที่สำคัญคือปราศจากเชื้อโรคและแมลงโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ช่วยสร้างจุดแข็งให้กับประเทศในการขับเคลื่อน

 

ในส่วนของโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ได้มีการพัฒนานวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย โดยพัฒนาสารสกัดสมุนไพรสู่การผลิตสูตรตำรับเครื่องสำอาง และมีการให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การสกัดสารสำคัญด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสูตรตำรับเครื่องสำอาง การให้บริการขยายขนาดการผลิตและทดลองผลิตด้วยโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP ตลอดจนการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดและความปลอดภัยของสูตรตำรับเครื่องสำอาง

 

ต่อมา คณะฯ ได้เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food & Feed Innovation Center) ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้นแล้วไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การทดสอบและพัฒนาระบบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม และการประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผลงานวิจัยสามารถถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอาหารในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร และสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ เปิดให้บริการการวิจัยด้านการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ ทั้งการผลิตวัตถุเจือปนอาหาร สารอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP ตามแนวทางปฏิบัติที่ดีในการใช้จุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมหรือ GILSP ที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการหมักจุลินทรีย์และกระบวนการปลายน้ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับทดลองตลาด การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์การให้คำปรึกษาและฝึกอบรมโดยทีมสหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่จะช่วยเพิ่มความพร้อมของเทคโนโลยี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการลงทุนเครื่องมือมูลค่าสูง เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์

 

จากนั้นในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถาบันนวัตกรรม ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม กล่าวต้อนรับและบรรยายภาพรวมการดำเนินงาน ทิศทาง และกลยุทธ์ของสถาบันนวัตกรรม และได้นำคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. พร้อมสื่อมวลชน เยี่ยมชมงานนวัตกรรมด้าน Life Science เกี่ยวกับ Medical Devices ซึ่งเป็นสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ (สผ) ใช้ในการผลิตวัสดุปิดแผล Advance wound dressing ที่ผลิตจาก Biocellulose-based เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์

 

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมในส่วนของ Life Science ด้าน Nutrition and Healthcare ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยที่มีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบ ตั้งแต่การสกัดสมุนไพร การวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ การขึ้นรูป การปรับปรุงคุณสมบัติสารสกัด การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ การวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

 

จากนั้น ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมนวัตกรรมด้าน Battery Cell Technology โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุที่สำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและราคา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบตเตอรี่สามารถแข่งขันในการดำเนินธุรกิจได้ ตัวอย่างเช่น การพัฒนา Core-Shell ที่สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานและทำให้แบตเตอรี่สามารถชาร์จ และดิสชาร์จได้เร็วขึ้น เมื่อคิดตลอดอายุการใช้งาน ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของ Battery Cell / Cycle Life ได้

 

ในส่วนของนวัตกรรมด้าน EV System Integration (EVSI) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่ของยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีหลัก 3 ด้านคือ 1) Powertrain Simulation 2) Vehicle Control Unit (VCU) Software Development and Validation และ 3) System Integration ตัวอย่างผลงานที่เห็นเด่นชัด คือ การพัฒนา Battery Pack สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้า รวมทั้งการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนา Battery Pack ดังกล่าวไปสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดในส่วนของ Cell to Pack และการพัฒนา EV Minibus โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้าน EV Powertrain System Integration และได้พัฒนาต่อยอดในส่วนของ VCU Software ให้สามารถใช้ควบคุมรถ EV Minibus ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้กับรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกได้ด้วย

 

ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมงานนวัตกรรมด้าน Carbon Capture and Storage (CCS) โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บ CO2 เพื่อตอบโจทย์ PTT Group Decarbonization Pathway ในการมุ่งสู่ Net Zero และสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบที่สำคัญในการขยายผล CCS ของประเทศในอนาคต

 

สำหรับนวัตกรรมด้าน Carbon Capture Utilization (CCU) เน้นการใช้ประโยชน์ CO2 มาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

 

  • Methanol เพื่อผลิตเมทานอลที่มี Carbon Footprint ต่ำ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และไบโอดีเซลของประเทศไทย
  • NaHCO3 เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา
  • Building Material พัฒนา Prototype ในการนำ CO2 ไปบ่มคอนกรีตซีเมนต์ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงของชิ้นงานได้และ
  • PCC (precipitate calcium precipitate) เพื่อเป็น High Value Product ใช้ในอุตสาหกรรม ยา อาหาร Polymer
#FOLLOW US ON INSTAGRAM