กรมโรงงานฯ เผยมาตรการเยียวยาโรงงานอุตสาหกรรม แนะงานแสดงสินค้าเวทีเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยมาตรการเยียวยาโรงงาน ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุตสาหกรรม 56,598 แห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดทำข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 งบประมาณแผนฟื้นฟู จากผลกระทบไวรัสโควิด ทั้งสิ้น 231 ล้านบาท แนะงานแสดงสินค้าเวทีเชื่อมต่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนกิจกรรมองค์ความรู้ การจัดงาน “แฟ็กเทค 2021” งานแสดงเทคโนโลยีและผู้ให้บริการยกระดับโรงงานสู่มาตรฐานสากล ระหว่างวันที่ 23- 26 มิถุนายน 2564 ณ ไบเทค บางนา
 
 
นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยมาตรการเยียวยาโรงงานอุตสาหกรรมจากวิกฤติโควิด 19 “ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ให้กับโรงงานจำนวน 56,598 แห่งทั่วประเทศ เป็นระยะเวลาหนึ่งปี พร้อมการจัดทำของบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และโครงการจำนวนทั้งหมด 5 โครงการ โดยครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาเครื่องจักร การยกระดับด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และ SMEs ในซัพพลายเชน เป็นเงินประมาณ 231 ล้านบาท”
 
 
จากวิกฤติดังกล่าว ผู้ประกอบการโรงงานหลายราย อาจจะกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบที่เผชิญในหลายเดือนที่ผ่าน ทางรอดจากช่วงเวลาเช่นนี้ นอกจากมาตรการเยียวยาและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว แนะผู้ประกอบการต้องอาศัยปรับตัวในธุรกิจให้ทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบโรงงานและการผลิต เพื่อให้เติบโตได้ในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่นี้
 
 
สำหรับการปรับตัวของโรงงาน รองอธิบดีฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถช่วยให้การดำเนินอุตสาหกรรมเดินหน้าไปได้ โดยภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะเคลื่อนตัวสู่ด้านดิจิทัล และภาคการผลิตจะเป็นในลักษณะ On-demand Manufacturing มากขึ้น โควิด-19 จึงเป็น Game Changer ที่ทำให้เราก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มตัว
 
 
“ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยมีระบบที่เป็นอัตโนมัติใดๆ มาก่อน อาจเริ่มต้นด้วยการจัดหาระบบอัตโนมัติง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มศักยภาพด้วยการจัดหาเพิ่มระบบอัตโนมัติและหรือระบบหุ่นยนต์ ระบบซอฟต์แวร์ ระบบ IoT/IIoT ระบบ Cloud Computing รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่จะใช้ทำงานร่วมกับซัพพลายเชนต่างๆ รวมไปจนถึง การทำ E-tax Invoice เพื่อเพิ่มความเป็นระบบอัตโนมัติที่ครบวงจร”
 
 
การปรับปรุงคุณภาพโรงงาน นอกจากเรื่องสายการผลิตแล้ว ระบบโรงงานที่ได้มาตรฐานยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องพัฒนาให้ได้อย่างครอบคลุม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงพร้อมให้การสนับสนุนการจัด “งานแฟ็กเทค 2021” ในวันที่ 23-26 มิถุนายน 2564 ณ ไบเทค บางนา งานเดียวในอาเซียนที่จะรวบรวมโซลูชั่นและบริการเพื่อพัฒนาการระบบโรงงานรอบด้าน ระบบไฟและไฟฟ้า ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ระบบรักษาความปลอดภัยและไอที รวมไปถึงโซลูชั่นเพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษา อีกทั้งการเสริมองค์ความรู้ในงานสัมมนา ที่จะเจาะลึกด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคม จะเข้ามาช่วยสร้างปรับเปลี่ยนโรงงานสู่มาตรฐานและอุตสาหกรรม 4.0 ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
“งานแสดงสินค้านับว่าเป็นหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดชิ้นสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ สามารถใช้เชื่อมต่อกับลูกค้า ฟื้นฟูและสร้างแบรนด์ในตลาดได้อย่างรวดเร็วที่สุด เป็นการรวมกันซึ่งไอเดีย เทคโนโลยี ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวเร่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเยียวยาธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างรวดเร็ว” นายศุภกิจ กล่าวปิดท้าย

  

#FOLLOW US ON INSTAGRAM