เฟ้นหาผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน…เพื่อลดการนำเข้า และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

 

 

เฟ้นหาผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน…เพื่อลดการนำเข้า และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากล จึงเป็นความหวังในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนด โดยหนึ่งในนั้น คือ “อุตสาหกรรมอากาศยานไทย”

ภาคธุรกิจเอกชนถือเป็นกำลังหลักในการสร้างห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินในประเทศเพื่อให้เกิดการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมนี้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

การผลิตเครื่องบิน เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการผลิตเครื่องบินทุกลำ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างละเอียด การลงทุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่ต้องได้มาตรฐานที่สูง ดังนั้นจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการที่มีความกล้าและพร้อมจะก้าวเข้ามาคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรมนี้

บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจที่ให้บริการงานซ่อมบำรุงอากาศยานของกองทัพเป็นหลัก โดยมีบุคลากรด้านวิศวกรรม และกิจการช่างอากาศยานที่เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากกองทัพอากาศ ทำการซ่อมบำรุงเครื่องบินรบ เครื่องบินฝึก เครื่องบินลำเลียง และขนส่ง และได้เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องบินเอกชนตลอดจนเครื่องบินของหน่อยงานราชการอื่น

การพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต

                บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Airbus Helicopter Southeast Asia กำหนดให้เป็นผู้แทน (Distributor) ในการสนับสนุนการบริการและการส่งกำลังบำรุงเฮลิคอปเตอร์ตระกูล และ Airbus ในประเทศไทย และความร่วมมือกับบริษัท SAFRAN Helicopter Engine ในการเป็นผู้แทน (Distributor) ในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของ SAFRAN ที่ติดตั้งกับ Airbus  และ Helicopter

ด้าน น.ท. ดิศฐ์ภณ มาภัธ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ TAI เป็นผู้บริการงานซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมอากาศยาน เช่น Helicopter และเครื่อง Airbus ซึ่งภาระกิจหลักของ TAI คือ สร้างความสัมพันธ์กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำทั่วโลก ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและจำหน่ายอะไหล่อากาศยาน รวมถึงให้ความร่วมมือทางการค้า การสนับสนุนด้านเทคนิค วิศวกรรม พัสดุอะไหล่ และการฝึกอบรม

 

ค้นหาผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อลดการนำเข้า

                น.ท. ดิศฐ์ภณ เผยอีกว่า ประเทศไทยมีเครื่องบินที่ใช้ในกองทัพและใช้ในเชิงพาณิชย์อยู่เป็นจำนวนมาก และจำเป็นจะต้องมีการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินเหล่านั้น ซึ่งอะไหล่และพาร์ทชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับการสั่งนำเข้ามาอาจต้องใช้เวลานานในบางชิ้นส่วน บริษัทจึงมีความประสงค์และค้นหาผู้ผลิตชิ้นส่วนและพาร์ทต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตคนไทย ซึ่งชิ้นส่วนและพาร์ทต่างๆ จะถูกนำไปใช้สำหรับงานซ่อมบำรุงเครื่องบิน บริษัทมองว่าหากมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นโรงงานผลิตโดยคนไทยก็น่าจะสามารถผลิตได้ เช่น น็อต สกรู สปริง และอุปกรณ์โลหะชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เพราะชิ้นส่วนเหล่านี้เมื่อถูกนำเข้ามาจะมีราคาที่สูงอย่างมาก และหากมีผู้ผลิตภายในประเทศที่สามารถผลิตเองได้จึงอาจสามารถลดการนำเข้าไปได้มาก รวมถึงบริษัทมีความต้องการเชื่อมโยงทางธุรกิจกับผู้ผลิตเหล่านั้น เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต

“สำหรับในส่วนของการวิจัยและพัฒนาอากาศยานภายในองค์กรนั้น เราได้มีการสร้างโดรนที่ใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยทางการแพทย์ โดยจะเป็นโดรนขนส่งอวัยวะหรืออื่นๆ ที่ใช้ในทางการแพทย์ ที่สามารถบินขนส่งไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งได้ ซึ่งในระยะแรกเราได้ทำการขนส่งในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ก่อน” น.ท. ดิศฐ์ภณ กล่าว

ในส่วนการสนับสนุนงานซ่อมบำรุงของบริษัทจะมีดังนี้ 1. ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน เช่น ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ลูกสูบ Lycoming, Continental 2.ซ่อมบริภัณฑ์ คือ ซ่อมบำรุงใบพัดอากาศยาน และบริภัณฑ์ อื่นๆ อาทิ Brake, Wheel และ Landing Gear 3.บริการเทียบมาตรฐานเครื่องวัด ให้บริการซ่อมและปรับเทียบอุปกรณ์และเครื่องมือในส่วนของ Aviation Test Equipment, Electrical Instrument, Physical / Mechanical Instrument, Optic/Laser and Dimension 4.งานซ่อมบำรุงเอวิออนิกส์ โดยให้บริการซ่อมบำรุงระบบวิทยุภาคอากาศ ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศภาคอากาศ และระบบเรดาร์ภาคอากาศ และ 5.บริการทำสอบโดยไม่ทำลายวัสดุ ซึ่งมีบริการตรวจหารอยบกพร่องหรือความผิดปกติที่เกิดต่อชิ้นส่วน โครงสร้าง และบริภัณฑ์อากาศยานที่เข้าตรวจซ่อม สำหรับศูนย์ให้บริการของบริษัทมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จ.ลพบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานกำแพงแสน จ.นครปฐม ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ.นครสวรรค์ และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

#FOLLOW US ON INSTAGRAM