ประธาน ส.อ.ท. ร่วมบรรยายและเสวนาไทยพีบีเอส “โค้งสุดท้ายเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

 

 

เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รับเกียรติขึ้นบรรยายและเสวนา “โค้งสุดท้ายเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” จัดโดยไทยพีบีเอส (Thai PBS World) ร่วมกับสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ณ บริเวณลานไม้ อาคาร A ไทยพีบีเอส

 

นายเกรียงไกร ได้ฉายภาพผลกระทบต่อนโยบายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจต่อโลกและประเทศไทย รวมทั้งขึ้นเสวนาสะท้อนนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริส ผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค รวมทั้งความสัมพันธ์และการเผชิญหน้ากับจีน

 

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการแสดงความกังวลมาโดยตลอด เพราะอยู่ในช่วงของความท้าทายของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้น หนีไม่พ้นเรื่องสงครามทางการค้า (Trade wars)ซึ่งกระทบการค้า การลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ต้องปรับตัวอย่างมาก

 

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ มีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์หลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเข้าถึงเทคโนโลยี ความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ นโยบายของคามาลา แฮร์ริสจะเจาะจงเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น เพิ่มภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนจาก 25% เป็น 100% สำหรับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเน้นการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทั้งหมด 10% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 60-100% รวมทั้งเรียกร้องรัฐสภาผ่านกฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีกำหนดภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนกับประเทศใดก็ตามที่เรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ และจะให้มีการยกเลิกการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากจีน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กกล้า ยา เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อไทย ในแง่โอกาสและความเสี่ยง โดยเป็นโอกาสที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ (ทดแทนสินค้าจีน) ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยอาจมีความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบทั้งกรณีดุลการค้าเกินดุลสหรัฐฯการแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่า หรือการบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation)

 

ด้านการลงทุน นโยบายของแฮร์ริส จะปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 28% จากเดิม 21% มีการลดหย่อนภาษีแก่ครอบครัวชนชั้นกลางมากกว่า 100 ล้านคน และจะมีการยกเลิกเก็บภาษีทิปและส่งเสริมการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการ สำหรับนโยบายของทรัมป์ จะเน้นนโยบาย Make America Great Again! ให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนกลับเข้ามาสหรัฐฯ

 

และจะมีการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 15% จากเดิม 21% เฉพาะกับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ เท่านั้น สิ่งที่จะส่งผลต่อไทย ก็คือ เป็นโอกาสที่บริษัทไทยที่ต้องการลงทุนและเจาะตลาดสหรัฐฯ สามารถเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ ได้

 

ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี นโยบายของแฮร์ริส จะมีการกีดกันการเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีของจีน เช่น ห้ามส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ระดับสูง และเทคโนโลยีสีเขียว เป็นต้น โดยเฉพาะมาตรการ CHIPS and Science Act สำหรับนโยบายของทรัมป์ จะมีการห้ามบริษัทจีนเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี และที่ดินสำหรับทำการเกษตร ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งไทยอาจได้รับผลดีและสามารถเป็นแหล่งผลิตทางเลือกให้กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ด้านความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายของแฮร์ริส สนับสนุนประเทศพันธมิตร NATO และยังสนับสนุนยุทโธปกรณ์ทางทหารไปยังยูเครนเพื่อต่อต้านรัสเซีย รวมถึงสนับสนุนอิสราเอล พร้อมผลักดันให้ลดระดับความขัดแย้งและความรุนแรง และเรียกร้องให้อิสราเอล-ฮามาส เร่งทำข้อตกลงหยุดยิงเพื่อยุติสงคราม นอกจากนี้ยังสนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคี รักษากรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ที่ไบเดนสร้างขึ้น และอ้างอิงความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) เพื่อถ่วงดุลอํานาจจากจีน ด้านนโยบายของทรัมป์ สนับสนุนให้สหรัฐฯ ยุติการเข้าร่วมที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ยกเลิกความช่วยเหลือแก่ยูเครน แต่ยังให้การสนับสนุนอิสราเอล และมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุน NATOรวมทั้งมีนโยบาย Make America Great Again! เน้นสหรัฐฯ ต้องมาก่อนทั้งผลประโยชน์ และความมั่นคง ดังนั้น การเจรจาเขตการค้าเสรีมุ่งเน้นความร่วมมือแบบทวิภาคี ผลกระทบต่อไทย คือ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการต่างประเทศ และภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เช่น นโยบายต่อรัสเซียประเทศในตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นยุโรป และประเทศในภูมิภาคเอเชีย (เกาหลีเหนือ) อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

 

สำหรับเรื่องอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม นโยบายของแฮร์ริส สนับสนุนการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อให้มีการผลิตและใช้พลังงานเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด มีการจัดแผนการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ลดการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ทรัมป์ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2015 และมีนโยบายเพิ่มการขุดเจาะหาแหล่งน้ำมัน และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม Clean Competition Act โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ รวมทั้งเอทานอล

 

ทั้งนี้ โอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับความสำคัญมากขึ้น สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนในปี 2567 อยูที่ 18.05%) โดยความสัมพันธ์ทางการค้าทั้งสองประเทศมีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 (เดือนมกราคม – สิงหาคม) มูลค่าการค้าไทยและสหรัฐฯ อยู่ที่ 48,890.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.85%YoY แบ่งเป็น ไทยส่งออก 35,592.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11.73%YoY และไทยนำเข้า 13,297.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.81%YoY ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 22,295.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.62%YoY แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะกลับมาพิจารณาตรวจสอบประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากอีกครั้งได้

 

ด้านความสัมพันธ์และการเผชิญหน้ากับจีนนั้น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเริ่มต้นทำสงครามการค้ากับจีน โดยมีการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2561 และความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก

 

หากทรัมป์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยเฉพาะการกีดกัน โดยการทำสงครามการค้ากับจีน ภายใต้นโยบาย “Make America Great Again!” คาดจะเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

สงครามเทคโนโลยีและชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงและพยายามแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐฯ ได้บังคับใช้กฎหมาย The CHIPS and Science Act of 2022 เพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และห้ามบริษัทต่างๆ ส่งเทคโนโลยีสำคัญไปให้จีน ขณะที่จีนมีนโยบายกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ

 

สหรัฐฯ พยายามแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) อุตสาหกรรมสำคัญ ออกจากจีน ไม่ว่าจะในรูปแบบการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ (Re-shoring) การย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาด (Near-shoring) และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตร (Friend-shoring) ด้านจีนพยายามเร่งสร้างพันธมิตรผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น BRICS และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่นำโดยจีน มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI)

 

ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี น่าจะส่งผลด้านบวกต่อประเทศไทยมากกว่าด้านลบ ภายใต้นโยบายที่ทั้งสองพรรคยังดำรงเหมือนกัน คือ มองจีนเป็นคู่แข่งหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เพราะหากมองในแง่การค้า ที่สหรัฐฯ จะมาซื้อสินค้าและนำเข้าสินค้าจากแถบประเทศอาเซียน รวมถึงไทย แทนการนำเข้าจากสินค้าจีนมากขึ้น ไทยก็จะยังได้อานิสงส์ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายสำคัญไปสหรัฐฯ อยู่

#FOLLOW US ON INSTAGRAM