
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ปูทางเสริมแกร่งยานยนต์ไฟฟ้า เร่งส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม…ชูฮับการผลิตในภูมิภาค
ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, EVs) คือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนด้วย มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสม หรือไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle, PHEV) ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)
คุณกฤษฏา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า เป้าหมายของสมาคมฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาซึ่งมีวัตถุประสงค์คือร่วมกันหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดมลภาวะในภาคการขนส่ง ฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวถึงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้านั่นเอง หรือในอนาคตอาจจะเป็นระบบไฮโดรเจนก็ได้ โดยสมาคมฯ มีคณะทำงานอยู่หลากหลายฝ่ายและมีคณะกรรมการถึง 30 ท่าน ซึ่งปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 370 สมาชิก ทั้งประเภทบริษัทและบุคคล สำหรับการทำงานของสมาคมฯ มีหลากหลายมิติเช่นกันทั้งในสถานศึกษาและภาคอุตสาหกรรม โดยการให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และการประชาสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า
โดยที่ผ่านมาสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และในปีนี้ผู้ชนะเลิศในประเภทสถาบันการศึกษาเป็นของวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ และประเภทประชาชนทั่วไปคือทีม GO2 Black Maeta
สำหรับในภาพรวมของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วมีการจำหน่ายถึง 10 ล้านคัน ซึ่งเทียบเท่ากับว่าทุกๆ การผลิตยานยนต์ 7 คัน จะมียานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน โดยเฉพาะในประเทศจีนมีการผลิตยานยนต์ 4 คัน และเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก ในส่วนของประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยเห็นจากการจดทะเบียนของยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐบาลที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของเม็ดเงิน ที่ออกนโยบายส่วนลด 150,000 บาทต่อคัน หรือการลดภาษีสรรพสามิตที่ลดลง จึงทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และจุดสำคัญที่จะเกิดขึ้นสำหรับค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจะต้องคำนึง Commitment ในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นในปีหน้า 2567 อาจจะได้เห็นค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ออกยานยนต์ไฟฟ้าจากสายการผลิตในประเทศจำนวนมากขึ้น และนั่นจะเป็นเฟสแรกที่จะเป็นการปูทางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
“โดยมุมมองของสมาคมฯ เห็นว่าการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดมลภาวะมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 หรือไอเสียจากเครื่องยนต์เก่าซึ่งมีในปริมาณมากถ้าหันมาใช้พลังงานสะอาดซึ่งช่วยลดมลภาวะไปได้มาก หรือจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันที่เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก รวมถึงการลดค่าบำรุงรักษาไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นสมาคมฯ จึงมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้ทุกคนหันมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รวมถึงระบบขนส่งไฟฟ้าทั้งหลาย” คุณกฤษฏา นายก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวทิ้งท้าย